บทสัมภาษณ์คุณบุญศรี หงษ์หยก

บทสัมภาษณ์คุณบุญศรี หงษ์หยก

พิชามญชุ์ เรื่อง / ทวีทรัพย์ ภาพ

วิมานดินวิมานใจ
ของบุญศรีหงษ์หยก

 

         เป็นวิมานอยู่บนดินให้เธอได้พักพิง..พิงและนอนหลับใหล
เก็บดาวเก็บเดือนมาร้อยมาลัยเก็บหยาดน้ำค้างกลางไพรมาคล้องใจเราไว้รวมกัน

 

เสียงเพลง “วิมานดิน”สะท้อนก้องในห้องรับแขกของ “อั้งหม้อเหลา”หรือคฤหาสน์ตระกูล “หงษ์หยก” ตึกโบราณสไตล์ชิโน-โปรตุกีสที่งดงามเลื่องชื่อของจังหวัดภูเก็ต….คล้ายกับว่าความหมายของเพลงที่หมดจดงดงามได้สะท้อนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบ้านและ “คน”ที่อยู่ในบ้านหลังนี้

ทุกบ่ายวันศุกร์ เป็นวันนัดพบของนักร้องสมัครเล่นที่สมัครใจมาร้องเพลงร่วมกัน รวมเป็นวงดนตรีที่เรียบง่าย อันประกอบด้วยนักร้องประสานเสียง นักเปียโนและแอคคอร์เดียน บรรเลงและร้องเพลงจากสมุดเพลงที่คัดด้วยลายมือของ บุญศรี หงษ์หยก เจ้าของบ้านหงษ์หยก ผู้ซึ่งบรรจงคัดเพลงนับร้อยลงบนสมุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้เพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้องที่รักและผูกพันกันมานานได้ร้องเพลงร่วมกัน

เป็นเวลาราวสิบปีมาแล้วที่บ้านหงษ์หยกเป็นสถานที่นัดพบในกิจการเกี่ยวกับเสียงเพลงโดยมีเจ้าของบ้านเป็นเหมือนศูนย์กลางการนัดพบพูดคุย ร้องเพลงและรับประทานน้ำชาในยามบ่าย บุญศรีหงษ์หยก เล่าขณะรับประทานน้ำชาในห้องอาหารว่า

“แรกๆก็ไม่ได้คิดว่าจะมาร้องเพลงกัน โดยมากสมาคมหนึ่งสมาคมใดมีงาน เขาเห็นที่นี่มีเปียโน เป็นเปียโนของหลาน พอดีหลานไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ครูของเขาก็เป็นนักเปียโนที่โรงแรมเพิร์ล  เขาบอกว่าเขาว่าง เขาก็จะมาเล่นดนตรีให้ พวกเราก็ร้องเพลง เวลาสมาคมอะไรจะมีงานก็จะมาซ้อม แม้แต่ผู้ว่าฯบางท่านก็มาซ้อมดนตรีที่บ้านนี้ ถ้าเขาไปซ้อมที่อื่นมันเอิกเกริก มาที่นี่จะเงียบ ก็เลยกลายเป็นว่าที่นี่เป็นที่ซ้อมเพลง ตอนหลังๆบางคนก็อายุมากขึ้น บางคนก็มีงานมากขึ้น ก็หยุดไปบ้าง”

ห้องอาหารของบ้านหงษ์หยกสามารถรับรองแขกได้ประมาณ 20 คน ภายในห้องมีเครื่องกระเบื้องสีสันหลายชิ้นวางประดับอยู่บนชั้น สวยงามสะดุดตาผู้มาเยือนจนเจ้าของบ้านต้องนำมาให้ชื่นชมใกล้ๆ เมื่อพลิกไปด้านหลังจาน ชาม และช้อนส้อมจะพบคำว่า S ปรากฏชัดเจน

บุญศรีบอกเล่าว่า Sหมายถึง Scott ซึ่งเป็นนามสกุลเดิมของเด็กหญิงบุญศรี สก๊อตต์

 

ของพวกนี้เป็นของอย่างเดียวของพ่อที่ดิฉันมีอยู่

——————

 

อาจเรียกได้ว่าในชีวิตของ บุญศรีหงษ์หยก สุภาพสตรีวัย 86 ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทในเครือบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัดมีบิดา 2 คน คนแรกคือผู้ให้กำเนิด คนที่สองคือผู้มีพระคุณ บิดาผู้ให้กำเนิดคือ เฮนรี่ จอร์ช สก๊อตต์ อดีตอธิบดีกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา (ปัจจุบันคือกรมทรัพยากรธรณี)  เฮนรี่จอร์ชสก๊อตต์เป็นชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการในประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2441-2449 ส่วนบิดาผู้มีพระคุณคือหลวงอนุภาษภูเก็ตการ (จิ้นหงวน หงษ์หยก) คหบดีใหญ่ของภูเก็ต ผู้ประสบความสำเร็จจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของภูเก็ตในยุคต้นๆ

“สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมากฝรั่งอังกฤษมักจะมาทำงานเป็นหัวหน้าแผนกต่างๆ ทรัพยากร ตำรวจ ป่าไม้ หลายแขนง คนอื่นเขามาอายุ 40 แต่พ่อดิฉันมาตอนอายุ 20 กว่า แล้วที่ทางกรุงเทพฯ ขอไป เขาจะขอคนเรียนเก่ง พ่อก็เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง  ก็สมัครมา พอมาถึง กรมพระยาดำรงราชานุภาพทอดพระเนตรเห็นพ่อ ท่านก็บอกว่าคนนี้ยังเด็กนี่  ไม่ได้ เดี๋ยวเสีย ท่านก็เลยให้อยู่ในวัง เป็นตึกหลังหนึ่งที่อยู่ในวัง มอบให้พ่ออยู่ พ่อก็เลยเป็นพระสหายของลูกๆท่าน

คุณปฐม คชเสนี อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เคยพาดิฉันไปที่กรมฯ แล้วก็เอาสมุดเล่มใหญ่ๆเก่าๆมาให้ดู ท่านบอกว่าคุณบุญศรี มาดูลายมือพ่อคุณเขียนเอาไว้เป็นภาษาไทย เป็นกฎหมายเหมืองแร่ฉบับแรก  ตอนหลังเขาก็ลอกมาทำให้ดีขึ้น สมุดเล่มนั้นเกือบร้อยปี สมัยนั้นเขาเรียกว่ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา หลังจากนั้นกรมโลหกิจก็ย้ายมาอยู่จังหวัดภูเก็ต ยุบทางกรุงเทพฯ เพราะทางใต้มีเหมืองแร่มาก

พ่อก็ทำงานอยู่หลายปีก็ลาออกมา แล้วก็ไปหาพี่ชายคนโตซึ่งเป็นคนมีสตางค์ จากนั้นก็รวบรวมหุ้นจากพรรคพวกมาเปิดบริษัททำเหมืองเรือขุดชื่อบริษัทไซมิสซิน ซินดิเคท จำกัด (SIAMESE TIN SYNDICATE) ตอนหลังท่านก็มาอยู่ที่ภูเก็ตก็ได้พบกับคุณแม่ดิฉัน ก่อนจะมาแต่งงานกับคุณแม่ คุณพ่อมีภรรยาคนไทยคนหนึ่งมาก่อน มีลูก 2 คน พี่ชายคนโตห่างกับดิฉันหลายปี ตอนหลังพี่ชายอายุ 8 ขวบ คุณแม่ก็ส่งพี่ชายไปอยู่กับปู่ย่า ให้เข้าโรงเรียนประจำ พออีก 2 ปีก็จะให้ลูกสาวไปอยู่ทางโน้นอีก แม่เขาก็ไม่ยอม ก็เลยให้เอาแม่ไปด้วย ตอนหลังท่านทั้งสองก็หย่ากัน หลังจากนั้นหลายปี คุณพ่อก็ไม่มีภรรยา พอมาแต่งงานกับแม่ดิฉัน ดิฉันก็เลยห่างกับพี่ๆหลายปี

คุณแม่ดิฉันเป็นคนไทยชื่อช่วง รู้สึกว่าจะนามสกุลเลขาพันธ์ ตอนแรกดิฉันไม่ทราบแต่เห็นญาติๆบอกอย่างนั้น ยังจำได้ว่าแม่นุ่งโจงกระเบน  จริงๆแล้วพ่อก็อยากให้ดิฉันไปอยู่อังกฤษ แต่ตอนนั้นดิฉันอายุยังน้อย แม่ก็ไม่ยอมให้ดิฉันไปเพราะมีลูกคนเดียว ไม่งั้นก็คงไม่ได้อยู่เมืองไทย”

เมื่อเด็กหญิงบุญศรี สก๊อตต์อายุประมาณ 9 ปี ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันจะหวนกลับมาเหมือนเดิมได้อีก

“วันหนึ่งดิฉันจำได้ว่ากลับจากโรงเรียนก็พบว่าแม่ไม่สบาย ก็ไม่ทราบว่าแม่เป็นลมหรือเป็นอะไร หลังจากนั้นแม่ก็ตาย มีญาติห่างๆมากซึ่งเป็นพี่เลี้ยง ท่านก็อายุมากแล้ว เขาก็บอกว่าแม่เป็นลมตาย แม่เป็นคนที่ไม่มีญาติสนิทเลย ตอนนั้นพ่อไม่อยู่ เขามีธุระที่จะต้องไปอังกฤษเกี่ยวกับบริษัทของท่าน บริษัทที่คุณพ่อเป็นหุ้นส่วนนี่ไม่มีที่ตั้งอยู่ในภูเก็ต จะอยู่ตะกั่วป่า พังงา ตรัง ระนอง มีเรือขุดหลายลำ ทีนี้หลานของคุณหลวงอนุภาษฯ ชื่อขุนนิเทศจินารักษ์เป็นลูกของหลวงประเทศจินารักษ์ พี่ชายคนโตของคุณหลวงอนุภาษฯ คือสมัยนั้นลูกๆของคุณหลวงอนุภาษฯ ยังเรียนไม่จบ ยังไม่มีใครมาทำงาน คุณหลวงก็ส่งให้หลานไปเรียน ก็เอามาทำงาน กิจการท่านมากกว่าพี่ชาย ก็ขอหลานมาทำงาน ขุนนิเทศจินารักษ์รู้ภาษาอังกฤษดีมาก และรู้จักกับพ่อแม่ดิฉัน พอรู้ว่าแม่ตาย เขาก็แจ้งไปทางบริษัทที่ตะกั่วป่า บริษัทก็ส่งข่าวไปที่สำนักงานใหญ่ในอังกฤษ รู้ถึงพ่อ พ่อก็นั่งเรือกลับมา ตอนที่แม่เสียนี่ ดิฉันเป็นเด็กกำพร้าจริงๆ คือไม่มีญาติสนิทของคุณแม่เลย ไม่มีพี่น้องเลย เป็นลูกคนเดียว มีแต่ลูกพี่ลูกน้องห่างๆ

สมัยนั้นต้องใช้เวลาเดือนหนึ่งกว่าจะถึงสิงคโปรหรือปีนัง แล้วแต่เรือจะมาลงที่ไหน พอพ่อลงเรือ พ่อเริ่มเป็นโรคหัวใจ ก็เป็นห่วงว่าจะไม่มีใครดูแลดิฉัน  คุณพ่อก็ลงเรือมาได้ไม่ถึงครึ่งทาง ระหว่างมาในเรือก็เกิดหัวใจวายแต่หมอในเรือช่วยไว้ได้ ระหว่างนั้นพ่อก็เป็นห่วง ท่านก็ไปคุยกับกัปตัน ในเรือกัปตันเป็นทุกอย่าง เป็นทนาย เป็นที่ปรึกษาของผู้โดยสาร ท่านบอกว่าท่านมีห่วง ลูกยังเล็กอยู่ แล้วแม่เกิดตาย ตอนนี้อยู่กับใครก็ไม่รู้ พี่น้องห่างๆทั้งนั้น ท่านเป็นห่วงมาก ท่านก็โทรเลขจากในเรือ ฉบับแรกไปที่บริษัท ฉบับที่สองส่งไปที่หลวงอนุภาษภูเก็ตการ ไม่ทราบท่านนึกอะไร คุณหลวงก็บอกทีหลังว่าเพียงแค่รู้จักกันเท่านั้น เพราะคุณหลวงก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่ทราบคุณพ่อคิดยังไงถึงได้ฝาก ที่ฝากไว้มีสองคน  อีกคนคือผู้จัดการบริษัท ไซมิสซิน ซิน ดิเดท จำกัดให้ตกลงกันเองว่าใครจะรับเลี้ยงระหว่างเขาเดินทาง และเขียนบอกว่าทรัพย์สมบัติทุกอย่างของเขาในเมืองไทย ยกให้ดิฉันคนเดียว ตอนนั้นดิฉันยังเป็นเด็กหญิงบุญศรี สก๊อตต์  แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านก็สิ้นชีวิตในเรือ

ตอนนั้นเราเป็นเด็ก เสียทั้งพ่อทั้งแม่ เราก็ไม่รู้จะอยู่กับใครดี คุณหลวงอนุภาษฯท่านให้ความสนใจมาก ท่านก็บอกว่าเอามาอยู่กับฉัน ฉันจะเลี้ยง ท่านบอกว่าตั้งแต่ท่านรู้จักฝรั่งมา มิสเตอร์สก๊อตต์ เป็นคนดีมากๆเลย ท่านต้องการจะเลี้ยงลูกมิสเตอร์สก๊อตต์  เขาก็ไปตกลงกันอย่างไรก็ไม่ทราบ ดิฉันถามคุณพ่อท่านก็ไม่เล่า คนที่รู้มากคือขุนนิเทศจินารักษ์เขาบอกว่าอย่าไปรู้เลย ผ่านมาแล้ว เขาก็เป็นคนบอกคุณพ่อว่า เขาเป็นลูกฝรั่งนะ  ให้เขาไปเรียนกรุงเทพฯก็ลำบาก การคมนาคมก็ไม่สะดวก ให้เขาไปเรียนปีนัง ในฐานะที่เป็นเด็กผู้หญิง ให้เขาไปอยู่โรงเรียนประจำ แล้วคุณหลวงอนุภาษก็มีบ้านอยู่ปีนัง ลูกสาว หลานชายก็อยู่ปีนังเพราะพี่สาวคนโตของท่านแต่งงานกับชาวปีนัง สมัยก่อนเด็กภูเก็ตจะไปเรียนที่ปีนังเยอะ เพราะการคมนาคมสะดวกมาก จะมีเรือเข้าออกทุกสัปดาห์”

จากภูเก็ต บุญศรี ไปเข้าศึกษาต่อที่ Convent of the Holy Infant Jesus ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนหญิงล้วนที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย

“ก่อนไปปีนังดิฉันเรียนที่โรงเรียนปลูกปัญญา ไม่มีอนุบาล เรียนป.1-ป.4 พอขึ้น ม.1 ก็มาเรียนอยู่โรงเรียนใกล้ๆวัด เป็นตึกของพระพิทักษ์ตัณฑวณิช ยังไม่ทันสอบ โรงเรียนทางโน้นเปิดต้นมกราคมก็ต้องออก พอไปอยู่ที่โน้น ตายล่ะ เรียนโรงเรียนไทยสมัยก่อน ม.1 เพิ่งเรียน ABC แล้วตอนเด็กๆอยู่กับพ่อ ๆก็พูดไทยด้วย  ไปถึงก็ต้องไปเรียนชั้นเล็กๆก่อน แม่ชีก็เอาใจมากพอรู้ว่าเราไม่มีพ่อไม่มีแม่

แรกๆ แม่ชีก็บอกว่าให้เพื่อนทุกคนดูแลเรานะ เพราะเราเป็น orphan นะ เราก็เข้าใจว่าคำนี้เหมือนเป็นเด็กกำพร้า โกรธมากเวลาใครมาเรียกอย่างนี้ ตอนหลังแม่ชีมาอธิบายให้ฟังว่า ยูเป็น orphan  เพราะยูไม่มีบิดามารดาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเด็กกำพร้าที่ต้องให้คนอื่นเอาไปเลี้ยง

ไปใหม่ๆ อายเขามาก เพราะภาษาอังกฤษรู้จักแต่เอบีซี เพิ่งเรียนม.1 ตอนนั้นก็เลยขยันมาก แล้วแม่ชีจะบอกครูประจำชั้นทุกชั้นเลยว่าให้สอนเด็กคนนี้ให้พิเศษ ก็เริ่มเรียนตั้งแต่ ป.1 พออยู่มา 2 เดือนเขาให้ขึ้น ป.2 ภายในปีเดียวขึ้นไป 3 ชั้น แป๊บเดียวได้ขึ้น ม.1 เลย ในชั้นก็มีคนที่อายุเท่าๆเรา เด็กที่เรียนเซ่อๆหน่อยก็เท่าๆเรา เรียนดีๆก็มีที่เล็กกว่าเรามาก จากม.1 ขึ้นไป ม.3 ก็เท่ากันกับคนอื่น พอเท่ากันก็เริ่มถอยแล้ว ซนแล้ว (หัวเราะ) ขี้เกียจแล้ว เพราะมาอยู่ปีกว่าๆ ไม่ได้ซนกับเขาเลย

อยู่โรงเรียนประจำนี่ถ้าซนก็สนุก ถ้าคนไม่ซนจะไม่สนุก ดิฉันก็ซนเอาเรื่องเหมือนกัน ไม่ใคร่ยอมใคร แต่รักเพื่อน สู้แทนเพื่อน คือเรียกว่าซนมากนะ เพื่อนรุ่นน้องอะไรนี่ ฉันไม่พูดมาก ฉันตีเอาเลย บอกว่าอย่ามายุ่งกับฉันนะ  เดี๋ยวฉันตี พวกที่มาร้องเพลงเป็นรุ่นน้องทั้งนั้น รุ่นดิฉันมีอยู่คนเดียวคือโรส ยงสกุล อยู่โรงเรียนเดียวกัน ชั้นเดียวกันแต่เขาเป็นเด็กเช้าไปเย็นกลับ เขาเป็นชาวมาเลเซีย แต่พอดีมาแต่งงานกับคนไทย แรกๆเขาก็ไม่เป็นเพื่อนเราเท่าไร เพราะเขาเป็นเด็กไปกลับ คือเด็กไปกลับกับเด็กประจำเขาไม่ให้วิสาสะกันมากนักเพราะกลัว คือเด็กผู้หญิงไงคะ เด็กคอนแวนต์ก็เหมือนเอามากักขังไว้ กลัวจะไปรู้จักผู้ชายข้างนอก  กลัวว่าเด็กไปกลับจะไปแนะนำให้รู้จักผู้ชายข้างนอก มีแต่เรื่องผู้ชายทั้งนั้น เขาห่วงเรื่องนี้มาก ไม่ห่วงเรื่องอื่น จะซนจะอะไรเขาก็ไม่ว่า ดุกันไปว่ากันไป ขออย่างเดียวไม่ให้นอกคอกเรื่องนี้

ที่โรงเรียนนี้มีเพื่อนมาจากกรุงเทพฯ หลายคน ส่วนใหญ่จะเสียไปแล้ว ที่เหลือก็มีโสภาพรรณ สุมาวงศ์ ลูกคุณพระมนูฯ แล้วก็มีเพื่อนอีกคนหนึ่ง ชื่ออินทนา บุนนาค อายุแก่กว่าดิฉัน ไม่สามารถช่วยตัวเองได้มาหลายปี ก่อนนี้เขาเป็นมะเร็งเต้านม ครั้งหนึ่งดิฉันไปเยี่ยม เขายังไม่ถึงกับช่วยตัวเองไม่ได้ ดิฉันเห็นเขานั่งอยู่ เสื้อข้างหน้าชิ้น ข้างหลังชิ้น  ก็ถามว่าใส่เสื้ออะไรเนี่ย จะเปิดดูว่าชั้นในเป็นอะไร เขารีบตบมือ ดิฉันก็บอกว่าชั้นไม่ใช่อยู่คอนแวนต์นะ ชั้นไม่ได้ไปดูอะไรของเธอหรอก เขาคงนึกว่าดิฉันยังซนอยู่ จะไปเปิดผ้าเขา เขายังนึกถึงความหลังอยู่ เรารักกันที่สุดในบรรดาเพื่อน เพราะเวลาที่ดิฉันถูกลงโทษ เขาจะช่วยและรับผิดด้วย เขาไม่ซนแต่เป็นหัวคิดให้คนอื่นซน ทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ

ถ้าดิฉันมีเวลาก็จะไปเยี่ยมเขา เป็นคนดีมาก ตอนดิฉันไปอยู่คอนแวนต์ใหม่ๆ เขาอายุมากกว่าดิฉัน 2 ปี เขาดูแลดิฉัน ตอนนี้ดิฉันไม่ถึงกับดูแลเขา เขามีลูกสาว 2 คน เขาก็ดูแลแม่เขาอย่างดี ครั้งหนึ่งดิฉันไปเยี่ยมเขา ก็กำเงินเอาไว้ก้อนหนึ่ง พอจะกลับก็จับใส่มือเขา บอกว่าชั้นไม่ได้ดูถูกเธอนะ ฉันให้ด้วยความรัก ไม่รู้จะให้อะไร  เราก็จับมือกัน เขาก็น้ำตาไหล”

ชีวิตที่สนุกสนานในวัยเรียนและความทรงจำอันงดงามในคอนแวนต์เป็นไปด้วยดีอยู่ 5-6 ปี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องหยุดการเรียนที่โรงเรียนคอนแวนต์เอาไว้เพียงเท่านั้น ก่อนจะมาเริ่มต้นชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ “ชีวิตครอบครัว”

“ตอนออกจากคอนแวนต์ดิฉันอายุ 16 ยังเรียนไม่จบ จะขึ้นชั้นมัธยม 7 ก็ติดแหง็กอยู่เพราะเป็นช่วงสงคราม อะไรต่างๆก็อันตราย เพื่อนคนหนึ่งของดิฉันหมั้นกับคนภูเก็ต ต้องให้คนไปรับ เสี่ยงมาทางเกาะตะรุเตา มาทางเรือ เวลามารถไฟก็ต้องปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชาย ตอนนั้นทหารญี่ปุ่นจับผู้หญิงสวยๆไปข่มขืนบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้ทำคนไทยแต่ทำคนจีนที่มาจากมาเลเซีย

หลังจากกลับมาแล้วก็มาอยู่กับคุณพ่อ ท่านก็ให้ดิฉันแต่งงานกับลูกชายคนโต(วิรัช หงษ์หยก อดีตนายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต-ถึงแก่กรรม) คุณพ่อบอกว่าคนที่เขาจะตายแล้วเขานึกถึงเรา ฝากฝังลูกไว้ ฝากฝังนี้หมายความว่าเราจะต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด ถ้าชั้นปล่อยเธอไปแต่งงานกับคนอื่น ชั้นก็เลี้ยงเธอได้ไม่เท่ากับที่ให้แต่งงานกับลูกชายชั้น เราก็ไม่รู้เรื่องอะไร แต่งงานยังไง อยู่คอนแวนต์เขาก็ไม่ให้พูดถึงเรื่องผู้ชาย แต่ดิฉันกับคุณวิรัช (สามี)รู้จักกันดี ปิดเทอมใหญ่กลับมาภูเก็ต ก็มาพร้อมกัน ก็เรียกเขาพี่ทุกคน น้องเขาทุกคนเราเรียกพี่ เดี๋ยวนี้น้องๆเขาทุกคนเรียกดิฉันพี่หมด (หัวเราะ) คือ เป็นพี่สะใภ้แต่อายุน้อยกว่าเขา

พอแต่งงานก็อยู่บ้านหลังนี้มาจนเดี๋ยวนี้ ตอนแรกบ้านสร้างเสร็จไม่มีคนอยู่ คุณพ่อก็อยู่บ้านตึกแถวของท่าน ทีนี้คุณพ่อมีพี่ชายอีกคนหนึ่ง ท่านไปเรียนที่มาเลเซียแล้วก็กลายเป็นข้าราชการของทางโน้น จนได้เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ มีลูกเยอะ  คุณพ่อก็เลยเอาลูกชายของเขา 2 คนมาทำงานที่นี่ พวกนี้พูดไทยไม่เป็น พูดจีนกับฝรั่ง ตอนนั้นก็ให้เขามาพักที่นี่ มีคนดูแลบ้านทำความสะอาดให้ พอดิฉันแต่งงาน ก็มาอยู่บ้านหลังนี้ กลัวจังเลย บ้านมันใหญ่ เช้าๆก็ไปอยู่กับคุณแม่ กลางคืนก็กลับมานอนที่นี่ ไม่มีใครอยู่ มีแต่คนสวน คนทำความสะอาด

ช่วงสงคราม ที่นี่กลายเป็นที่หัดจักรยาน เพราะว่าเกิดสงครามหลายเดือนเข้าก็ไม่มีน้ำมันจะใช้  ทุกคนต้องหัดถีบจักรยาน ใครต่อใครก็มาหัดจักรยานกันที่นี่ เพราะพื้นที่กว้าง”

บ้านหงษ์หยกตั้งอยู่บนเนื้อที่ 5 ไร่ สร้างขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. 2473 ออกแบบโดยขุนพิศาลสารกรรม  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี การที่บ้านหลังนี้ถูกเรียกว่า”อั้งหม้อเหลา” ซึ่งแปลว่า  “ตึกฝรั่ง” เนื่องจากตัวบ้านเป็นอาคารยุโรปผสมจีนซึ่งแตกต่างจากบ้านห้องแถวอันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น

ส่วนตัวบ้านประกอบด้วยห้องต่างๆ ได้แก่ ห้องนอน 6 ห้อง  ห้องทำงาน,ห้องพระ,ห้องรับรองแขก ห้องอาหารสำหรับ 18 ที่นั่ง ห้องนั่งเล่นหรือห้องเอนกประสงค์ ซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ ฯลฯ  เฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้นสั่งทำจากกรุงเทพฯ ปัจจุบันยังคงใช้งานได้ ส่วนกระเบื้องปูพื้นโมเสค และกระเบื้องปูหลังคาสั่งทำจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเวลานี้ก็สีกระเบื้องก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิม

“เห็นคุณพ่อบอกว่าสร้างตั้งเกือบ 5 ปี รอกระเบื้อง กระเบื้องพวกนี้มาจากอังกฤษ มาจากทางสิงคโปร์ ปีนังแล้วก็ลงเรือมาที่นี่ สภาพบ้านตอนนี้ก็เป็นอย่างนี้ เพียงแต่ดิฉันชอบรื้อไอ้นั่นทุบไอ้นี่ แต่ข้างในยังไงก็ยังงั้น คิดว่าตัวเองมีหัวด้านศิลปะอยู่บ้าง เพราะว่าทางพ่อดิฉันเป็นสถาปนิกหมด เคยคิดอยากเรียนแต่ไม่มีโอกาส ดิฉันก็ทุบไปได้หลายห้อง (หัวเราะ)กระเบื้องพวกนี้เป็นชิ้นเล็กๆ แผ่นสีฟ้าจะมีสีขาว สีฟ้า สีน้ำตาล ที่บ้านสร้างช้าเพราะต่อกระเบื้อง และช่างปูพื้นเป็นคนจีนมาจากเมืองจีน ฝีมือเขาละเอียดมาก”

เจ้าของบ้านเล่าระหว่างที่นำชมบ้าน ก่อนจะกลับมาที่ห้องรับแขกซึ่งประดับประดาด้วยภาพของบรรพบุรุษของตระกูลหงษ์หยก อาทิ หลวงอนุภาษภูเก็ตการ และหลุยฮุ่น หงษ์หยก ภริยา

“ก่อนแต่งงาน คุณพ่อท่านสอนให้เรียกท่านว่าอาเป็นภาษาจีน หลังแต่งงานให้เรียกพ่อ ถ้าเราเรียกผิด เขาก็จะยกนิ้วบอกว่าเรียกผิดอีกแล้ว คุณพ่อเป็นคนดุ รักลูกแต่ไม่แสดงออกว่ารักลูก

ตอนนั้นคุณวิรัชเพิ่งเริ่มเข้าทำงาน ยังเพิ่งหัดไปดูเหมือง เริ่มตั้งบริษัท ตอนนั้นการก่อตั้งบริษัทต้องมี 7 คน คุณพ่อก็เอาบุญศรีเข้าไปอีกคน  คุณพ่อบอกว่า โตแล้วนะ อย่าซนนะ มีครอบครัวแล้วนะ เขาว่าดิฉันซนทั้งนั้นเลย กลายเป็นเด็กซน พูดง่ายๆเราเป็นคนตรง นึกอะไรก็ทำออกมาเลย ตรงๆ คนจีนเขาต้องเรียบร้อย คนไทยก็เรียบร้อย แต่พอดิฉันอายุมากเข้าก็หายซน

ระหว่างสงครามจะเหงาบ้างเพราะบ้านคุณแม่ก็คนเยอะ คนงานก็เยอะ ลูกหลานก็เยอะ ดิฉันก็ไปเจอเพื่อนที่เคยอยู่โรงเรียนไทยด้วยกัน เป็นลูกหมอ เขาก็ชวนไปบ้านพี่สาว พี่สาวเขาเก่งด้านเย็บปักถักร้อย เขาก็ชวนดิฉันไปเรียน ดิฉันก็อยู่ว่างๆ เขาก็ชวนว่าไปเรียนทำไม เรียนฟรีก็ได้เราเพื่อนกัน  มาถามคุณแม่ คุณแม่ก็บอกว่าตามใจ  ดิฉันก็ไปหัดทำดอกไม้กระดาษ คุณแม่ลงทุนซื้อกล่องให้ แม่ผัวก็ใจดีมากๆ ถึงจะเป็นคนจีนก็ตาม โชคดีมากๆ คนที่ดุคือคุณพ่อ แต่ก็กลายเป็นว่ารักเราด้วย

คุณพ่อเป็นคุณพ่อสามีก็จริง แต่ท่านก็คิดว่าดิฉันเป็นลูกท่าน เวลาท่านป่วย  ท่านไม่สบาย ใครให้ยาไม่ได้ ต้องให้ดิฉันเป็นคนให้ยา ต้องดูแล ล้างหน้าเช็ดหน้า  ตอนนั้นท่านเป็นมะเร็ง เขานอนอยู่ที่บ้าน เช้าขึ้นมายังลุกขึ้นจากเตียงไปนอนที่โซฟาได้ แล้วก็ไม่มีลูกคนไหนกล้าเถียง  ดิฉันก็ไม่คิดว่าเถียงแต่อธิบายให้ฟังถึงแม้ท่านจะไม่ชอบ ท่านยังสูบซิการ์อยู่เลย ดิฉันยังบอกว่าบั้นปลายชีวิต ท่านอยากสูบอะไรก็ให้สูบไป  แต่อย่าสูบมาก คอยดูแลคอยห้ามบ้างตามสมควร พ่อ ดูดมากไปเดี๋ยวเสียงแห้งนะ เดี๋ยวค่อยสูบไหม แต่ไม่ห้าม คนอายุมากก็เหมือนเด็ก เรากลายเป็นผู้ใหญ่ต้องคอยหลอก เวลามีคนห้าม คุณพ่อก็จะบอกว่าไม่เห็นบุญศรีเขาว่าอะไร เรากลายเป็นคนดีไป

ก่อนคุณพ่อเสีย ต้นปี 1962 พอดีพี่ชายดิฉันจะไปเมืองนอก  เขาก็ชวนดิฉันและสามีไป ตอนนั้นคุณพ่อยังสบายดี ดิฉันก็บอกว่า ป๋า พี่จะไปอังกฤษ ชวนฉันไปด้วย ฉันไปได้ไหม ท่านตอบทันทีว่าไปสิ บ้านพ่อเรานี่ ความที่ท่านรักพ่อดิฉันไง เหตุผลที่ให้ไปเพราะเราจะได้ไปบ้านพ่อ ดิฉันก็ดีใจ มาถามคุณวิรัช คุณวิรัชบอกว่าพ่อไม่ค่อยสบาย ขอไว้ก่อน แต่เที่ยวนี้ให้ดิฉันไป ดิฉันบอกว่าถ้าอย่างนั้นดิฉันไม่ไป เขาก็เคี่ยวเข็ญให้ไป ดิฉันก็ตกลงว่าจะไป คุณพ่อเป็นคนที่ไม่ให้ตังค์ง่ายๆ เอาเงินมาให้ดิฉัน 80,000 สมัยนั้น 80,000 ก็มาก  ดิฉันก็ดีใจว่าให้ตั้ง 80,000 แต่อีกใจก็คิดว่าทำไมไม่ให้ครบแสน (หัวเราะ)

คุณพ่อนอนเจ็บอยู่ 6 เดือนกว่า หลังจากนั้นคุณพ่อก็จากไปปี 1963”

วิรัชและบุญศรี หงษ์หยก ไม่มีทายาทด้วยกัน ต่อมาเมื่อวิรัช ถึงแก่กรรม “บ้านหงษ์หยก”จึงเป็นมรดกตกทอดมาถึงบุญศรี ซึ่งเวลานี้อาศัยอยู่กับเพ็ญศรี หงษ์หยก (ภริยาของคณิต หงษ์หยก)และแจ่มใจ สวัสดิ์ภักดี น้องสาวของเพ็ญศรี

แม้จะไม่มีทายาท แต่เวลานี้บุญศรี หงษ์หยก กลับเป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่คอยให้ร่มเงาแก่ลูกหลานในตระกูลหงษ์หยกทุกคน ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายคนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากบุญศรีอย่างใกล้ชิด

“มีหลานคนหนึ่งที่เขายกให้ดิฉันกับสามีเป็นลูกชายคนโตเขาเป็นลูกชายของน้องชายคนที่ 2ของคุณวิรัช ซึ่งตอนนี้เสียไปแล้วบ้านนั้นเขามีลูกหลายคน   เขายกลูกชายคนโตซึ่งชื่อมนตรีให้เป็นลูกดิฉัน ตอนเล็กๆซนมากแต่พอโต เขากลับเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้(หัวเราะ)

อีกคนหนึ่งที่โดนดุมากคือคุณภูมิศักดิ์ เพราะเขาซนมากตอนเด็กๆ แล้วพ่อเขาก็ไปทำงานไกลที่เหมือง ไม่ได้ดูแลลูกชาย แม่เขาก็เป็นผู้หญิงจริงๆ ลูกชายก็เลยมอบให้ดิฉันช่วยดูแล หรืออย่างตาล (ปิยะนุช หงษ์หยก)น้องของภูมิศักดิ์ ดิฉันก็เลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็กหลังจากที่คุณพ่อเขาเสียไป ตอนนี้เราแก่แล้วเขาก็ดูแลดิฉันอย่างดีมากๆ เจ็บป่วย ไม่สบาย เขาทั้งนั้นเลย  บางทีไปโรงพยาบาล เราก็มีคนรถ มีเด็กดูแล ก็บอกเขาว่าไม่ต้องไปหรอก เขาก็บอกว่าเขาว่าง เขาอยากจะคุยกับหมอเพราะต้องการรู้ว่าเป็นอะไรบ้าง เดี๋ยวนี้ดิฉันเลยบอกว่าตาลทำมากเกินไป ป้ากลายเป็นคนโง่แล้วนะ

ครั้งหนึ่ง พี่แร่ม (คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุญยประสพ-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต) มาร่วมงานวันเกิดตอนดิฉันอายุครบ 72 พี่แร่มกับดิฉันรักกันตอนท่านมาเป็นผู้แทนที่นี่  ท่านก็มาที่บ้านนี้บ่อยๆ พวกหัวคะแนนก็มา ท่านบอกว่าดิฉันมีบุญคุณ แต่ดิฉันบอกว่าห้ามพูด ในเมื่อเรารักใครเราก็ต้องการทำให้ ไม่ได้ถือเป็นเรื่องบุญคุณ

ตอนดิฉันอายุ 72 ท่านก็ไปร่วมงาน ปีนั้นเขากะว่าทุกคนจะต้องใส่เสื้อสีฟ้า เด็กๆขึ้นไปร้องเพลงให้ดิฉัน พี่แร่มถามดิฉันว่าคุณทำยังไง เด็กๆพวกนี้เขาถึงรักคุณ ฉันรู้นะว่าเขาไม่ใช่สายเลือดของคุณ พูดตรงๆคงไม่โกรธนะ ดิฉันตอบทันทีว่า ‘ ง่ายๆ ฉันรักเขาก่อนไง ไม่ใช่ให้เงินทองแต่ให้ความรัก’…..”

ตระกูลหงษ์หยกเป็นตระกูลใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของภูเก็ต ด้วยรากฐานอันแข็งแกร่งในด้านธุรกิจซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษในนามบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด  ซึ่งยังคงอยู่ในระบบกงสี เวลานี้ลูกหลานได้แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบกิจการในเครือ 15 บริษัทย่อย มีทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ สนามกอล์ฟ ปั้มน้ำมัน โรงพยาบาล ร้านกาแฟ ฯลฯ สิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนสามารถปรองดองและอยู่ร่วมกันได้คือการประนีประนอมและให้เกียรติกัน โดยเฉพาะการให้ความเคารพแก่ญาติผู้ใหญ่

“ครอบครัวนี้ไม่มีการทะเลาะกัน นินทากันก็มีบ้าง (นิดหน่อย) นินทาที่ไม่ใช่ว่าร้ายก็มี นินทาดีก็มี  ดิฉันไม่กลัวคนนินทาเพราะเราไม่ได้ยินแต่ดิฉันไม่นินทาใคร อย่างเพ็ญศรี ภรรยาคุณคณิต  อยู่ในบ้านด้วยกันก็ไม่ทะเลาะกัน

เรื่องทะเลาะกันบ้างมันก็มีทุกครอบครัว เวลาคนทะเลาะกัน ดิฉันก็ไม่ได้ทำถึงขนาดว่าเขาทะเลาะกันแล้วทำให้เขามาดีกัน แต่พอเรารู้เข้า เราก็เล่าว่าคนนั้นดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ พอเจออีกคนเราก็ไปพูดว่าคนนี้ดีอย่างนี้ ให้เขาเห็นอกเห็นใจกัน พูดจริงๆแล้วครอบครัวหงษ์หยกนับว่าเป็นครอบครัวที่ไม่ทะเลาะกันนะแม้ว่าจะเป็นแบบกงสี อะไรที่เขาไม่ชอบเขาจะพูดกัน เขารับฟังกัน  มันก็มีคนขัดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา คนหลายปากหลายท้อง  มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมี แต่เขารับฟังกัน ผู้ใหญ่ก็รับฟังเด็ก รุ่นเด็กก็รับฟังผู้ใหญ่ รุ่นเดียวกันก็ฟังกัน เขาไม่โกรธด้วย อย่างภูมิศักดิ์ ถ้าคืนไหนเขากลับมาดึก ไม่ได้มาขอความเห็นแต่จะเล่าให้ป้าฟัง ป้ายังไม่นอน เขาก็จะมานั่งเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง

โดยมากเขาก็จะบอกว่า คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนี้ อยากให้เขาทำอย่างนี้ ดิฉันก็จะบอกว่าไม่ต้องไปฟังใคร ถ้าเราทำอะไรที่ถูกต้องก็ทำไป เราฟังคนๆเดียวสองคนไม่ได้หรอก เวลามีอะไรเขามาถามดิฉัน  ถ้าดิฉันบอกว่า yes เขาก็เชื่อฟัง  ดิฉันว่าพ่อแม่ครอบครัวเขาสอนดี ปู่ย่าตายายเขาสอนกันมาดี คนนี้ (ชี้ไปที่คุณหลวงอนุภาษฯ) คนนี้ (หลุยฮุ่น หงษ์หยก) ใจดี สะใภ้ทุกคนไม่มีเรื่อง สะใภ้แต่งงานก็ให้เครื่องเพชรเครื่องทอง ให้เหมือนกับให้ลูกสาว ตอนที่คุณแม่เสียชีวิต อายุแค่ 50 ปี ลูกชาย 4 คนยังไม่แต่งงาน ท่านทำเครื่องเพชรไว้ให้ มีกำไลเพชรเม็ดโต คนละคู่  แหวนคนละวง ระย้าห้อยคอ มาจากไหนอะไรก็แล้วแต่ คุณนายเป็นคนใจดี คนนี้(คุณหลวง) เป็นคนเก่ง เพราะฉะนั้นหงษ์หยกเลยดีทุกคน”

 

—————————

 

งานเลี้ยงน้ำชามื้อนั้นมีจานชามกระเบื้องเก่าแก่เป็นสีสันในการสนทนา…..

“พอคุณแม่ตาย มีคนมาขนสมบัติที่บ้านไปหมด พอดีเพื่อนของแม่คนหนึ่งเป็นเพื่อนกับภรรยาคุณหลวงอนุภาษฯ ไปเห็นเข้าว่ามีคนมาขนของที่บ้านไปหมด เขาก็เลยไปบอกคุณหลวง วันรุ่งขึ้นท่านก็เลยให้คนไปขนของพวกนี้มาไว้ให้ดิฉัน ของพวกนี้เป็นของอย่างเดียวของ ‘พ่อ’ ที่ดิฉันมีอยู่ เป็นของที่มีคุณค่าทางใจมาก..เพราะอย่างนี้ดิฉันถึงได้คิดเสมอว่าคุณหลวงอนุภาษฯ  จะว่ากล่าวดิฉันก็ไม่ว่า เพราะท่านได้เก็บสมบัติของคุณพ่อเอาไว้ให้

จากเครื่องกระเบื้องไม่กี่ใบ นำพาไปสู่เรื่องราวมากมายในชีวิตของ บุญศรีหงษ์หยก และบทสรุปที่ว่า

“แรกๆมาอยู่บ้านนี้ ยังรู้สึกว่าบ้านใหญ่จังเลย ตัวเราเล็กนิดเดียว แต่ตอนนี้รู้สึกว่าตลอดชีวิตที่แต่งงานมาอยู่บ้านนี้ก็มีความสุข  มีความสุขคือเราไม่เคยไปทะเลาะกับใคร มีความสุขตามอัตภาพ เหมือนกับว่าเป็นบ้านของเราเอง เราสร้างขึ้นมาเอง”

คฤหาสน์เนื้อที่ 5 ไร่อาจเป็นวิมานชั้นฟ้าในสายตาคนภายนอก แต่คฤหาสน์จะมีความสวยงามโอ่อ่าสักเพียงใด คงไม่สำคัญเท่ากับ “ความสุข” ของผู้อยู่อาศัยที่สะท้อนออกมาผ่านคำพูดและแววตาของ “บุญศรี หงษ์หยก” ผู้สร้าง “วิมานดิน”แห่งนี้ให้งดงามร่มเย็น ให้ความสุขกายสุขใจแก่ผู้พักพิงและผู้มาเยือนด้วย “วิมานใจ”อันสงบเย็นนั่นเอง