Baba Phuket

Baba Phuket

ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้คำว่า “บาบ๋า” เป็นคำใหม่ที่มีคนรู้จักมากขึ้นหากก็เพียงแต่กลุ่มคนที่สนใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น  ในจำนวนนี้อาจรวมถึงคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย  เพราะประเทศมาเลเซียเฉพาะเจาะจงไปยังเมืองมะละกาและปีนังถือเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่เรียกตนว่าบาบ๋าได้เป็นอย่างดี  บุคคลที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์  เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วต้องทำการเช็คอินเพื่อแสดงตำแหน่งแห่งหนของตนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียคงได้เคยคุ้นกับคำกันมาบ้าง

กล่าวอย่างกระชับได้ใจความก็คือ “บาบ๋า” นั้นหมายถึงทายาทของบรรพบุรุษชาวจีนฮกเกี้ยนที่ย้ายถิ่นมาลงหลักปักฐานแถบช่องแคบมะละกาอันหมายถึงหลายเมืองทั้งมะละกา  ปีนัง อินโดนีเซีย  สิงคโปร์และภูเก็ต  กลุ่มคนเหล่านั้นได้สมรสกับสตรีพื้นเมือง  เมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนานวัน  วิถีชีวิต  ความคิดและความเชื่อในเรื่องต่างๆของแต่ละฝ่ายก็ถ่ายทอดสู่กันและกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า “เพอรานากัน” อันแสดงออกผ่านทาง  อาหารการกิน  การแต่งกาย  ที่อยู่อาศัยตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ

สำหรับลูกหลานคนจีนกับสตรีพื้นเมืองแถบมาเลเซียหรืออินโดนีเซียคำว่า “บาบ๋า” เป็นคำเรียกเฉพาะอันหมายถึงลูกชาย  ส่วนลูกสาวมักเรียกว่า “ย่าหยา”  หากสำหรับภูเก็ตมักเรียกรวมว่าบาบ๋าซึ่งหมายรวมถึงวัฒนธรรมธรรมผสมผสานนี้ด้วย   แม้ว่าโดยภาพรวมแล้ววัฒนธรรมลูกผสมของคนกลุ่มนี้จะเหมือนกันแต่เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมืองภูเก็ตซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของส่วนกลางอย่างสยามอันแตกต่างจากชาวมะละกาหรือปีนังแม้กระทั่งอินโดนีเซียหรือสิงคโปร์ที่มีความสัมพันธ์ผ่านการยึดอาณานิยมของต่างชาติทั้งอังกฤษ  โปตุเกสและดัตช์  แน่นอนว่าภูเก็ตนั้นมีความเกี่ยวเนื่องอย่างแน่นแฟ้นกับปีนังหรือมะละกามากหากเรามิอาจละเลยการพิจารณาความเป็นบาบ๋าภูเก็ตโดยตัดความเป็นส่วนหนึ่งของสยามไปได้เลย ดังนั้นมิติทางสังคมของบาบ๋าภูเก็ตย่อมมีทั้งความเหมือนและต่างจากชาวเพอรานากันแถบนี้อย่างน่าสนใจยิ่ง