Past Present Future

อดีต ปัจจุบัน อนาคต

ภูเก็ต  จังหวัดเดียวบนแผนที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเกาะทางแถบทะเลอันดามัน  ในอดีตเคยขึ้นชื่อเรื่องการทำเหมืองแร่เป็นอย่างมากก่อนกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน  เชื่อว่าประวัติความเป็นมาของเมืองนี้มีมาอย่างยาวนาน  บางคนอาจทราบดีอยู่แล้วว่า  เดิมที  ภูเก็ต  เรียกว่า  เกาะถลาง  ซึ่งก่อนหน้านั้นบริเวณพื้นที่ตรงนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ  อุจังซีลัง  อุจองซีลัง  จังซีลัง  จังซีลอน  มาก่อนโดยมีความหมายว่า  เกาะที่ถูกตัดขาด

เป็นธรรมดาของบรรดาเมืองทั้งหลายไม่ว่าที่ใดก็ตามย่อมมีมนุษย์อาศัยอยู่ตามช่วงเวลาที่ต่างกัน  ภูเก็ตก็เช่นกัน  นักประวัติศาสตร์ได้ขุดพบเครื่องมือหินและขวานหินอันเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่บริเวณบ้านกมลา  อ.กะทู้  สันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่มาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว

เมืองถลางปรากฏหลักฐานแน่ชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ส่วนคำว่า ”ถลาง” เป็นภาษามลายู  แปลว่า  หมู่บ้านเล็กๆ, นายหน้า  ความหมายแรกนั้นใช้สำหรับเรียกชื่อหมู่บ้านเช่น  ถลางบางคลี  ถลางบ้านดอน  ถลางบางโรง  ส่วนความหมายที่สองตรงกับหน้าที่ของเจ้าเมืองนี้คือ  เป็นตัวแทนของพระเจ้าอยู่หัวในการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ  ดังในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  พ.ศ. 2253 ทรงแต่งตั้งจอมเฒ่าหรือบรรดาศักดิ์พระสุรินทราชาหรือพระยาสุรินทราชา  จางวางกรมคชบาลฝ่ายซ้ายไปเป็นผู้สำเร็จราชการ  สมัยนั้นมีการส่งออกช้าง จอมเฒ่าเลือกที่บริเวณถลางบางคลีเป็นที่ตั้งค่าย

พ.ศ. 2275 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต  เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสและพระอนุชาคือกรมพระราชวังบวรฯ สุดท้ายกรมพระราชวังบวรฯเป็นฝ่ายได้ขึ้นครองราชย์คือพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ  ด้วยเหตุที่จอมเฒ่านั้นเป็นพี่ชายของจอมร้างผู้ซึ่งมีความดีความชอบอย่างมากจึงไม่ถูกประหารชีวิต  เพราะตามปกติเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดินด้วยการนองเลือดขุนนางผู้อยู่ในรัชกาลก่อนก็ต้องถูกประหารไปด้วย

ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้  จอมร้างได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกและได้เลือกถลางบ้านตะเคียนเป็นศูนย์กลางการปกครอง   ดังนั้นถลางบางคลีที่เคยเป็นศูนย์กลางอยู่บนแผ่นดินใหญ่จึงย้ายมาที่นั่น  และจังซีลอนก็ถูกเรียกเป็นถลางนับแต่นั้นมา

อาจกล่าวได้ว่าเมืองถลางถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและมีชนชั้นปกครองซึ่งมิได้เป็นคนท้องถิ่น  แต่คนเหล่านั้นและลูกหลานก็ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินเรื่อยมาและสามารถดำรงความเป็นเมืองมาได้อย่างยาวนานก่อนที่ถลางจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับภูเก็ต  ดังเช่นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ต้นรัชกาลที่ 1 พม่าได้บุกเข้าตีถลาง  ความวุ่นวายภายในระหว่างส่วนกลางกับเมืองถลางและขณะนั้นสามีของท่านผู้หญิงจันหญิงจันซึ่งเป็นเจ้าเมืองได้ถึงแก่กรรมแล้ว  ท่านผู้หญิงจันจึงได้รวบรวมพลเมืองผู้รักชาติทั้งฝ่ายข้างมารดาคือวันหม่าเรี้ยซึ่งเป็นมุสลิม  และฝ่ายข้างบิดาคือจอมร้างอดีตเจ้าเมืองผู้สร้างเมืองถลางเข้าต่อสู้กับพม่าจนได้รับชัยชนะ

ท่านผู้หญิงจันเป็นบุตรสาวคนโตของจอมร้างกับวันมาเรี้ยผู้ซึ่งเป็นขุนนางขุนนางผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและเจ้าหญิงแห่งเมืองไทรบุรี  ในขณะนั้นพลเมืองถลางส่วนใหญ่เป็นชาวไทรบุรี  คำว่า “วัน” ในภาษาไทยหมายถึงเจ้าหญิง  ส่วนหม่าเรี้ย  นั้นก็คือ  มาเรียหรือมาเรียในภาษามุสลิมนั่นเอง

ต่อมาผู้สืบเชื้อสายของท่านทั้งสองนี้ก็ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง  บุตรชายคนโตของคุณหญิงจันกับพระยากลาโหมภักดีภูธร(หม่อมศรีภักดี)  สามีคนแรก  แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในบ้านเมืองหลายอย่างแต่สุดท้ายพระเพชรคีรี(เทียน)  ก็เป็นที่รู้จักในนามพระยาถลางเทียน  ขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลางในช่วงหลังเสร็จสิ้นศึกกับพม่าซึ่งมารดาของท่าน  คือท่านผู้หญิงจันซึ่งเป็นแม่ทัพในคราวนั้น

เมืองถลางเป็นเมืองที่มีความสำคัญในบรรดาหัวเมืองชายทะเลตะวันตกมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  เพราะเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรแร่ดีบุก  ทำให้เกิดผลประโยชน์แก่ผู้ติดต่อค้าขายและผู้มีอำนาจในส่วนกลางเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญแก่เมืองถลางในปีพ.ศ.2352ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสวรรคต  พม่าได้ยกทัพทางเรือเข้าตีเมืองถลางเนื่องด้วยขุนนางผู้ใหญ่หัวเมืองขึ้นไปถวายพระบรมศพ  และครั้งนั้นพม่าก็ประสบความสำเร็จหลังจากรอคอยชัยชนะมานานหลายปี  ศึกครั้งนั้นทำให้เมืองถลางย้ายไปตั้งที่กราภูกรา(ปัจจุบันคือ  บ้านกรุงศรี  ต.นบปริง  อ.เมือง  จ.พังงา) ต่อมาในปี พ.ศ. 2368  จึงย้ายกลับไปอยู่เกาะดังเดิม

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่เริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นคือการชักชวนชาวจีนอพยพเข้าตั้งถิ่นฐานในหัวเมืองปักษ์ใต้เพื่อทดแทนคนพื้นเมืองเดิมที่หนีไปเมื่อครั้งสงคราม  และเพื่อดุลกำลังกับชนชั้นปกครองเดิม  นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางระดับต่างๆแก่พ่อค้าชาวจีนเหล่านั้นด้วย

อันว่าพ่อค้าชาวจีนนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นและยั่งยืนมาจนวันนี้

ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าขายแถบชายทะเลฝั่งตะวันตกมาตั้งแต่สมัย  กรุงศรีอยุธา  ก่อนที่ขุนนางจากรุงศรีอยุธยาจะออกมาจับช้างส่งขายบริษัทอังกฤษอินเดีย  ในปีพ.ศ. 2253   เมื่อเกิดเมืองถลางก็ทำให้มีชาวจีนเข้ามามากขึ้นโดยที่พ่อค้าเหล่านั้นเมื่อเข้ามาทำงานมิได้นำภรรยาและลูกมาด้วย  แต่มาแต่งงานและมีครอบครัวใหม่อยู่ที่นี่อีก  เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง  จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า  บาบ๋า

ชาวจีนอพยพมีบทบาทสำคัญในธุรกิจเหมืองแร่ซึ่งกลายเป็นเศรษฐกิจหลักในการหล่อเลี้ยงชุมชนทั้งชนชั้นปกครองและผู้อพยพเข้ามาทำมาหากินบนที่ดินแห่งนี้  ซึ่งศูนย์กลางของเมืองในขณะนั้นก็เคลื่อนย้ายความสำคัญไปตามสายแร่ที่มีอยู่ตามการค้นพบ

เมืองภูเก็จเกิดขึ้นพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเนื่องด้วยก่อนหน้านี้เป็นเพียงชุมชนชาวประมงธรรมดาชื่อว่า      ชุมชนบูกิต  จนกระทั่งมีความต้องการแร่ดีบุกในเศรษฐกิจโลกที่แห่งนี้จึงทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ  และเกิดความเป็นเมืองไปในขณะเดียวกับการมีอยู่ของเมืองถลาง  และตามพงศาวดารถลางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2328 ถึงพ.ศ. 2384 เมืองภูเก็จมีเจ้าเมืองเพียง 3 คน  และในปีพ.ศ. 2438 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมืองถลางก็ถูกยุบเป็นอำเภอถลางขึ้นกับเมืองภูเก็จ

พัฒนาการของเมืองจากแรกเริ่ม  จังซีลอน  ถลาง  มาเป็นภูเก็จ  จนกระทั่งจังหวัดภูเก็ต  สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงโดยผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่อันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเพื่อเหตุผลทางสังคม  เศรษฐกิจรวมถึงวัฒนธรรม เพื่อปกป้องแผ่นดินจนถึงแสวงหาผลประโยชน์จากผืนดินนี้  ทุกเรื่องหลอมรวมให้ภูเก็ตเป็นเมืองสำคัญในระดับภูมิภาค  จนถึงระดับประเทศนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

จากวันวานจวบจนวันนี้ที่เกาะเล็กๆได้ต้อนรับผู้คนหลากเชื้อชาติ  วัฒนธรรมอันแตกต่างของเขาเหล่านั้นหลอมรวมให้กลายเป็นกลุ่มคนที่ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบและเคารพซึ่งกันและกัน  ความอ่อนน้อมและรู้คุณแผ่นดินของชาวจีนผู้มาเยือนผนวกกับความมีเอกลักษณ์ที่มีน้ำใจของชาวพื้นเมืองได้ก่อให้เกิดทายาทอีกรุ่นหนึ่ง  พวกเขาเป็นผลพวงแห่งเศรษฐกิจและสังคมอันรุ่งเรืองของบรรพบุรุษ  ทั้งยังสะท้อนความงดงามแห่งการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์

ภูเก็ตในวันนี้ได้เปลี่ยนจากเมืองเหมืองแร่สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆของประเทศ  ทั้งยังทำรายได้สู่ประเทศปีละจำนวนมาก โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวมากมายในภูเก็ตล้วนแล้วแต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่งดงามทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคน ยิ่งไปกว่านั้นคือโรงแรมตามหาดต่างๆดูเหมือนจะมีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาพักเป็นส่วนใหญ่  ด้วยความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนี้เองภูเก็ตในวันนี้จึงมีสถานภาพเป็นเมืองใหญ่ที่ทันสมัยกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นเมืองแรกในการรองรับนโยบายพื้นที่พิเศษในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งแรกในประเทศไทยหรือ “ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้” ซึ่งคือการใช้ระบบดิจิตอลเชื่อมการท่องเที่ยว  อีกทั้งนโยบายนี้ยังสนับสนุนนวัตกรรมสร้างสรรค์ในอินโนเวชั่นพาร์คอันเป็นสถานที่ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม การเรียนรู้เทคโนโลยี การให้คำปรึกษาธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจดิจิตอลทั้งในจังหวัดภูเก็ตและในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

เมืองท่องเที่ยว  เมืองดิจิตอล  และเมืองแห่งวัฒนธรรม  สามคำนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งคนภูเก็ตและคนส่วนกลางควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางการเติบโตอย่างทันสมัยที่ดำเนินเคียงคู่ไปกับการพัฒนา  น่าคิดเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับทิศทางของการเปลี่ยนไปว่าใครจะสามารถตระหนักและให้น้ำหนักความสำคัญกับทุกอย่างอย่างเท่ากันได้  เพราะย่อมหมายถึงการดำรงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งวัฒนธรรมในขณะที่โลกทุนนิยมกำลังยืนเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีบนปลายนิ้วท่ามกลางสิ่งที่กำลังเปลี่ยนผ่านอยู่ทุกวัน

คงมีเพียงคนที่เข้าใจทั้งอัตลักษณ์และความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเท่านั้น  ที่สามารถยืนอยู่ได้อย่างสง่างาม…โดยไม่หลงลืมความเป็นตัวตน

 

 

หนังสืออ้างอิง

ปัญญา  ศรีนาค  ถลาง  ภูเก็ต  และบ้านมืองฝั่งทะเลตะวันตก: สำนักพิมพ์มติชน

ภูเก็ต: สำนักพิมพ์สารคดี

 

เรียบเรียงจากบทความ ภูเก็ต: เธอจะอยู่ในใจเสมอ  ตอน จากจังซีลอนสู่ภูเก็ต และ  เหตุเกิดที่ .เยาวราชความเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่คงไว้ในตัวตน  (ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย .)

โดย  มีน  พงษ์ไพบูลย์